Column Right

ผู้สูงวัยกับภัยออนไลน์

ช่วงปลายปี(2565) ที่ผ่านมา ได้ร่วมประชุมเสวนากับผู้นำชุมชน ซึ่งจะมีผู้สูงวัย ชายหญิง มีทั้งชาวบ้าน นักวิชาการ อดีตข้าราชการ โดยมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมถึงพูดคุยและสอบถามปัญหาการดำรงชีวิต หนึ่งในข้อคำถามที่หยิบยกขึ้นมาก็คือ ภัยหลากหลายรูปแบบบนโลกออนไลน์ที่มีต่อผู้สูงวัย ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นไลน์ หรือ Facebook แม้ว่าที่ผ่านมา ผู้สูงวัยส่วนใหญ่ก็ใช้โทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟนเป็นจำนวนไม่น้อย แต่ส่วนใหญ่เป็นการติดต่อพูดคุย ส่งข่าวคราวกับลูกหลานในครอบครัวหรือกลุ่มเพื่อนฝูงเท่านั้น แต่ในปัจจุบัน เมื่อการสื่อสารมีความสะดวกมากขึ้น โทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟนมีประสิทธิภาพสูงขึ้นรวมถึงราคาถูกลง ค่าบริการก็ลดลง ประการสำคัญโซเชียลมีเดียโดยเฉพาะ Facebook มีการพัฒนาในการแสดงข้อมูลต่างๆ ทั้งในแบบสาธารณะและกลุ่มสนใจต่างๆ ทำให้โลกของการสื่อสารเปิดกว้างมากขึ้น จากเฉพาะแค่คนในครอบครัว Facebook จะพาผู้สูงวัยไปพบกับคนใหม่ที่ไม่รู้จักกันมาก่อน 


จากการที่ผู้สูงวัยใช้เวลาส่วนใหญ่หันมาเล่นอินเทอร์เน็ตนับเป็นจำนวนที่มากขึ้น จากการเสวนาสอบถามพบว่า ผู้สูงวัย ไม่ว่าชายหรือหญิงล้วนประสบปัญหาที่เป็นผลกระทบจากโซเชียลมีเดียน้อยบ้างมากบ้างแตกต่างกันไป(ปัจจุบันเข้าถึงเกือบทุกช่วงวัย) เพราะ Facebook และเว็บที่แนะนำเพื่อน Facebook เพื่อนไลน์ ช่องทางเหล่านี้จะพาผู้สูงวัยไปพบกับคนใหม่ที่ไม่รู้จักกันมาก่อน หรืออาจจะเคยรู้จักกันมาบ้าง รวมถึงสามารถเข้าถึงกลุ่มต่างๆ บนโลกออนไลน์ที่ผู้สูงวัยสนใจ เช่น การท่องเที่ยว การปลูกต้นไม้ การถ่ายภาพ การทำบุญ หรืออื่นๆ ซึ่งปัจจุบันพบว่าสุ่มเสี่ยงจากกลุ่มมิจฉาชีพ จ้องที่จะเข้ามาตีสนิทเพื่อประสงค์ร้ายไม่ว่าจะเป็นการหลอกลวงเอาข้อมูลส่วนตัวรวบรวมเพื่อส่งต่อ การหลอกให้รักหลง การหลอกขายของ การหลอกชักจูงร่วมลงทุน การหลอกเปิดร้านขายของออนไลน์ การหลอกกดรับออเดอร์ และอื่นๆอีกมาก 

ซึ่งคณะทำงานได้ร่วมกันพิสูจน์ โดยทำตัวเป็นเหยื่อ เข้าไปยังกลุ่มต่างๆบน Facebook หรือ Dating (เป็นส่วนบริการหาเพื่อน ซึ่งจะมีกลไกในการ แสดงว่า ถูกใจคุณ หรือ เพื่อน หรือ แมตช์ เงื่อนไขที่ตรงตามข้อมูลที่เรากำหนด) นอกจากนี้ยังมีเว็บประเภท chat ต่างๆหลากหลายเว็บ จากการตรวจสอบ ได้พบถึงกระบวนการรุกล้ำ หลอกลวง การตีสนิทประชิดเหยื่อ ทำให้ได้เห็นถึงขั้นตอนของมิจฉาชีพที่ใช้กับเหยื่อ โดยมิจฉาชีพจะพาเหยื่อออกจาก Facebook  หรือจากเว็บ chat ไปสู่ ไลน์ เพื่อปฏิบัติการในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เหยื่อทำตาม ซึ่งในไลน์ของมิจฉาชีพส่วนใหญ่ถ้าเป็นผู้ชายก็จะเป็นคนที่มีรูปที่ดูดีภูมิฐาน หน้าตาดี ถ้าเป็นผู้หญิงก็แสดงตนที่ดูสวยน่ารัก (จากการตรวจสอบพบว่ารูปเหล่านั้นขโมยนำมาจากบุคคลอื่นๆที่มีอยู่ใน facebook)    คณะทำงานจึงได้ร่วมกันวิเคราะห์ รวมถึงหาแนวทางป้องกันให้แก่ผู้สูงวัยทั้งชายหญิงได้ใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณา (ที่จริงแล้วในปัจจุบันลุกลามไปทั่วทุกเพศ ทุกวัยอายุ)
การหลอกลวงมีอยู่หลากหลายรูปแบบ ข้อมูลต่อไปนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่พบเห็นมากที่สุด


ชักชวนหลอกเปิดร้านค้าออนไลน์
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในโลกปัจจุบันมีร้านค้าออนไลน์มากมายไม่ว่าจะเป็น eBay, amazon รวมถึงแบรนด์ติดตลาดบ้านเราไม่ว่าจะเป็น Lazada, Shopee, KAIDEE, TARAD.com, PantipMarket ของเครือพันทิพย์ ซึ่งแพลตฟอร์มเหล่านี้ เป็นกลุ่มร้านค้าขายที่มีระบบ มีความถูกต้อง เป็นจริง มีตัวตน แต่ก็มีกลุ่มมิจฉาชีพ กลุ่มแสวงหาผลประโยชน์  กลุ่มที่แอบแฝง ทำเลียนแบบ รอเหยื่อ

กรณีชักชวนหลอกเปิดร้านค้าออนไลน์ โดยจะอ้างแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ดังๆ อย่างเช่น Shopee ตามภาพด้านล่าง


ซึ่งเว็บไซต์ https//thshop.vip นี้เป็นเว็บที่น่าสงสัย ในหลายๆประการ
1.อ้างว่าเป็นของ Shopee ซึ่ง Shopee ไทยจะเป็น https://shopee.co.th/ หรือสำนักงานที่ประเทศจีนก็จะเป็น https://shopee.cn/
2.สินค้า ในร้าน มีน้อย ไม่หลากหลาย อีกทั้งการวางสินค้า ไม่ตรงหมวดหมู่
3.สินค้า มีราคาแพงจากการเทียบกับ amazon หรือ eBay
4.ไม่มีช่องทางติดต่อผ่าน social media
5.เว็บไซต์โดเมน .vip พึ่งให้บริการในไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ Shopee ทั้งโดเมน .co.th และโดเมน .cn มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558

ซึ่ง https://webparanoid.com/en/check-website/thshop.vip ได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่า 
Thshop.vip ไม่มีโซเชียลมีเดีย ไม่มีช่องทางติดต่อ ไม่มีสถิติผู้ใช้ หรือเข้าเยี่ยมชม แนะนำควรหลีกเลี่ยง
จากการได้พูดคุยกันหลายคนก็สงสัยว่าการหลอกลวงนั้นมาด้วยวิธีการใด 


หลอกรักลวงพราง
กลลวงของมิจฉาชีพที่มีต่อผู้สูงวัยชายและหญิง จะมีลักษณะคล้ายๆกัน ก็เป็นรูปแบบหลอกรักลวงพราง คุยหวานให้ตายใจ พูดถึงการสร้างอนาคตร่วมกัน โดยใช้วลีเด็ดว่า "ไม่คิดที่จะสร้างอะไรด้วยกันเพื่ออนาคตเหรอ" หรือ  "ถ้าพี่ทำให้น้องมั่นใจได้ จะทำอะไรน้องก็ยอมทั้งนั้นแหละค่ะ"   จนผู้สูงวัยชายและหญิงคล้อยตาม ก็จะพูดในลักษณะชวนลงทุน ไม่ว่าจะสร้างร้านค้าออนไลน์ หรือซื้อหุ้น หรือเงินสกุลดิจิทัล หรือชวนลงทุนหุ้นทอง แม้กระทั่งชวนให้ช่วยกดรับออเดอร์ ดังภาพด้านล่าง


ตัวอย่าง(เรื่องจริง) บทสนทนาในการลวงเหยื่อ 

ตัวอย่าง(เรื่องจริง) บทสนทนาในการลวงเหยื่อ 


นับได้ว่าเป็นอีกภัยสังคมที่มุ่งทำร้าย คุกคามผู้สูงอายุ (ซึ่งจริงๆก็แทบจะทุกช่วงวัย หรือทุกเพศ) การจะปกป้องผู้สูงวัยในชุมชนให้ปลอดภัยจากการคุกคามของมิจฉาชีพที่แฝงอยู่บนโลกออนไลน์ ต้องมาจากความพร้อมของครอบครัว ของหน่วยงานราชการ รวมถึงการให้ความรู้ที่ทันต่อเทคโนโลยีดิจิทัลที่พัฒนาเปลี่ยนไป รวมถึงกลวิธี หรือความเสี่ยงใดๆที่มิจฉาชีพจะนำมาใช้ด้วย


จากกลุ่มหลอกรักลวงพราง นอกจากจะเข้ามาตีสนิททำเหมือนรัก อยากใช้ชีวิตร่วมกัน อยากสร้างอนาคตรวมถึงการแสดงว่า งานที่ชวนทำเป็นงานง่ายๆ ไม่ยาก มีผลตอบแทนสูง ได้เงินเข้าบัญชีตลอดเวลา ดังรูปแบบด้านบนแล้ว ปัจจุบันมีแนวหลอกล่อว่าอยากท่องเที่ยวภายใต้แคมเปญ "ทริปคู่รัก" โดยจะโน้มน้าวว่าทริปท่องเที่ยว บริษัทรับผิดชอบค่าใช้จ่ายตลอดทริป แต่อ้างเงื่อนไขว่า สิทธิ์นี้มันต้องพาแฟนเข้ามาเป็นสมาชิกเพื่อรับสิทธิ์ด้วยกันก่อน ซึ่งเงื่อนไขต้องเข้ามาทำงานคู่กัน 4-6 รอบงาน โดยจะมีสถานการณ์ สภาพแวดล้อมชักจูงและสร้างความน่าเชื่อถือ พาเหยื่อเข้าไปร่วมกับกลุ่ม (ส่วนใหญ่ จะแสดงตัวว่าเป็นคนมีชื่อเสียง มีนามสกุลดังๆ) ดูตัวอย่าง บทสนทนาด้านล่าง ที่กำลังหลอกเหยื่อไปสู่ กระบวนการหลอกลวง 




นอกจากทริปคู่รัก ก็ยังมีกลอุบาย เป็นแหวนคู่รักอีกด้วย ซึ่งจะชักชวนเข้าร่วมทำกิจกรรม ลงทะเบียนเพียงร้อยหรือสองร้อยบาทแล้วหลอกพาทำกิจกรรมต่างๆ ผสมผสานการเติมเงินเข้าไปอย่างต่อเนื่อง (แรกๆก็ทีละน้อย แต่ก็จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง)

โปรดให้ความสำคัญกับการเข้ามาตีสนิท แบบผิดปกติ ไม่ว่าจะชวนคุย ชวนท่องเที่ยวที่มีช่องทางแบบเที่ยวฟรี โดยการทำงานกดรับออร์เดอร์ บางรายจะใช้คำว่า ขอไปดูกราฟ ก่อน พฤติกรรมเหล่านี้ ขอให้ระวังไว้ก่อนว่า เป็นพวกมิจฉาชีพ

  
นอกจากนี้ ยังอาศัย การแอบอ้างหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ ในการหลอกลวง เช่น ขอรับเงินชดเชยค่าครองชีพที่ยังค้างอยู่ในระบบ โดยให้ยืนยันข้อมูลผ่านระบบ Digital Pension, การคืนภาษีจากกรมสรรพากร, การคืนค่ามัดจำหม้อมิเตอร์ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าทั้งส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวง, การชักชวนลงทุนต่างๆ, การขายยาบำรุง ยาสำหรับโรคของผู้สูงอายุ, การหลอกลวงรวมถึงการนำเสนอสินค้าด้อยคุณภาพทั้งผ่านช่องทางออนไลน์ นอกจากนี้ ตามชนบท ยังมีขบวนการมิจฉาชีพเข้าถึงบ้านโดยตรง ทั้งการหลอกลวงขายสินค้าด้อยคุณภาพ การหลอกเหยื่อติดตั้งเครื่องกรองน้ำ เครื่องประหยัดไฟฟ้า หลอกขายอุปกรณ์ครัวเรือน และอื่นๆ อีกหลายรูปแบบ ซึ่ง mediathailand จะได้นำมาเล่าให้ฟังกันในโอกาสต่อไป



ล่าสุด (วันที่ 6มีนาคม 2567)  มีโทร 0993190546 แอบอ้างมาจากกองคลัง กศน.ได้ส่งหนังสือแจ้งมาที่บ้าน ว่ามีเงินช่วยค่าครองชีพ พอบอกว่าไม่ได้รับหนังสือ ก็บอกว่าไม่ได้อยู่บ้านที่อยู่เดิมเหรอ (คงคิดว่าอยู่ภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านเดิม) แล้วบอกเลขที่บ้านเดิมถูกต้องซะด้วย (ซึ่งจริงๆแล้วก็ไม่ได้กลับไปอยู่บ้านนั้นนานแล้ว) แถมเร่งให้ไปติดต่อที่ กศน.ภาคเหนือ (คงคิดว่าวัยอาวุโสอย่างเราต้องลำบากแน่ๆ หารู้ไม่ว่า ไม่ได้อยู่บ้านเดิมจังหวัดนั้นมานานแล้ว) ซึ่งสำเนียงออกจะลนลาน  เหมือนไม่ใช่คนไทย ...  แหม ใกล้ตัวจริงๆ พอบอกว่าจะไปติดต่อเอง วางสายหนี เลย









ไม่มีความคิดเห็น

Do not recommend gambling sites of any kind. If violated, will be prosecuted according to the law.

ขอบคุณที่ได้ให้ความสนใจบทความ ใน mediathailand network ครับ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

new story

Recent Posts Widget