Column Right

อีกองค์ประกอบของการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้

ช่วงเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมานี้ สถานศึกษา นักการศึกษา ต่างระดมแนวคิดหาแนวทางการจัดการศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีพัฒนาการในด้านต่างๆอย่างรวดเร็ว ได้มีการพัฒนา หาทางปรับปรุง เกี่ยวกับระบบ กระบวนการ รูปแบบการเรียนการสอน ด้วยการค้นหา พัฒนา วิธีการ แนวคิด ประยุกต์ด้วยการนำเครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ มาใช้ร่วมในการดำเนินการจัดการศึกษาปัจจุบันจะพบว่า สถานศึกษาต่างๆ ได้เพิ่มขีดความสามารถทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมถึงคิดค้นนวัตกรรม พัฒนาและแพร่กระจายเนื้อหาการเรียนการสอน และพัฒนาวิธีการสอน เพื่อช่วยให้ผู้เรียนที่มีความสามารถนั้น สามารถเข้าถึงสังคมข้อมูลข่าวสารและความรู้ได้อย่างดี ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง และความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี รัฐจึงได้เน้นความสำคัญของเทคโนโลยีการศึกษา โดยกำหนดสาระหลักไว้ใน หมวด 9 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับ พ.ศ.2542 แต่ทว่าการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในประเทศไทยนั้นยังกระทำไปได้ไม่เต็มที่ เท่าที่ควรจะเป็น ทั้งที่เทคโนโลยีได้ก้าวไปไกลในหลากหลายด้าน  มีเพียงสถานศึกษาไม่กี่แห่งที่มีความพร้อมในการปรับ-เปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่  ซึ่งกลไกในการดำเนินการ การใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาอย่างจริงจังนั้น อยู่ภายใต้องค์ประกอบที่สำคัญ หลายประการ อาทิ
1. บุคลากรครู โดยส่งเสริมความรู้ การฝึกอบรมครู การพัฒนาบุคลากรในทุกระดับ อย่างต่อเนื่องและจริงจัง ซึ่งในความเป็นจริง บุคลากรครู นับเป็นปัจจัยหลัก ในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีการศึกษาไปสู่กลไกการจัดการศึกษา แต่สภาพข้อเท็จจริงในปัจจุบันพบว่า มีครูและบุคลากรทางการศึกษายังไม่ได้รับ(โอกาสหรือไม่คิดจะรับ) ในการพัฒนาตนเองด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านนโยบายระดับล่าง หรือผู้บริหาร ซึ่งนับเป็นอุปสรรคสำคัญ ในการก้าวสู่กระบวนการใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาอย่างจริงจัง


2. โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยการสนับสนุนโครงข่าย อุปกรณ์ เครื่องมือที่จำเป็น ต่อการเข้าถึงองค์ความรู้ ข้อมูล ข่าวสารต่างๆ แม้ว่าปัจจุบันความเหลื่อมล้ำในช่องทางการเข้าถึงระหว่างสังคมเมืองกับสังคมชนบทจะมีแนวโน้มที่ลดน้อยลงก็ตาม แต่หากมามองระหว่างสถานศึกษากลับพบว่า เครื่องมือหรืออุปกรณ์ ที่เป็นช่องทางการเรียนรู้ในชั่วโมงการเรียนรู้ ยังมีความแตกต่างกันอยู่มาก สถานศึกษาบางแห่งให้ความสำคัญที่ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ โดยมุ่งเน้นในการจัดสร้าง จัดหา จนเกินความจำเป็น(บางโรงเรียนก็ไม่เพียงพอต่อการเรียน) แต่ด้านการพัฒนาองค์ความรู้  ขาดการผลักดัน หรือสนับสนุนในการสร้าง พัฒนาหลักสูตร สื่อ หรือเนื้อหาเพื่อการเรียนรู้ อย่างจริงจัง

3. เครือข่าย คำว่าเครือข่ายในที่นี้ ไม่ใช่เครือข่ายทางอุปกรณ์ แต่เป็นเครือข่ายด้านสาระเนื้อหา หรือองค์ความรู้ การสร้างโครงข่ายหรือเครือข่ายการเรียนรู้ เน้นการใช้สื่อ สาระการเรียนรู้และข้อมูลร่วมกัน การก้าวไปสู่สังคมการเรียนรู้บนเครือข่ายปัจจัยสำคัญคือ ตัวข้อมูล สาระการเรียนรู้ แม้จะพบว่าจะอยู่ในสภาพมีการรวมตัวกันบ้าง ในกลุ่มสถานศึกษาบางกลุ่ม แต่ที่เห็นผล ก็มีไม่มากนัก การที่จะให้เครือข่ายมีความเข้มแข็ง จำเป็นต้องกำหนดเป็นนโยบาย หรือวิสัยทัศน์ของผู้บริหารในหน่วยงานหรือสถานศึกษานั้นๆ ที่จะเป็นแรงผลักดันต่อสถานศึกษาด้วยกัน ในการสร้างหรือพัฒนาเว็บไซต์ และการเชื่อมโยงเว็บไซต์สถานศึกษาแต่ละแห่งในแต่ละพื้นที่เข้าเป็นกลุ่มเครือข่ายด้วยกัน นำไปสู่ความเข้มแข็งของระบบ ความพร้อมของการบริหารจัดการ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือความเข้มแข็งทางองค์ความรู้ ที่มีเครือข่ายร่วมมือดำเนินการพัฒนา ทำให้มีปริมาณในการพัฒนามากกว่าการดำเนินการเพียงสถานศึกษาเดียว นอกจากนี้ในการเป็นเครือข่ายทำให้สามารถสนับสนุนซึ่งกันและกันได้ในทุกๆด้าน

4. ข้อมูล องค์ความรู้ ส่งเสริมให้สถานศึกษามีการพัฒนาสื่อ ทั้งในแบบออฟไลน์ และออนไลน์ ผลักดันให้มีการพัฒนาฐานการเรียนรู้บนเว็บไซต์ ระดมสร้างข้อมูลการเรียนรู้ หรือนวัตกรรมที่เอื้อประโยชน์ต่อการจัดการศึกษา นำไปสู่การแลกเปลี่ยน แบ่งปันองค์ความรู้ ทั้งสาระ เนื้อหา หรือ สื่อ ผ่านกลไกบริหารจัดการเครือข่ายที่เข้มแข็ง  ทำให้การขับเคลื่อนเทคโนโลยีสำหรับสนับสนุนการเรียนการสอนดำเนินไปอย่างเป็นรูปธรรมและมีการใช้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด


5. กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สถานศึกษาควรมี เว็บไซต์ ของสถานศึกษาเพื่อใช้เป็นเวทีกลางในการสร้างสรรค์ผลงาน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคณะครูร่วมกัน เป็นฐานหลักในการศึกษาหาความรู้ของผู้เรียนที่เป็นนักเรียน นักศึกษา เป็นช่องทางสื่อสารระหว่างหน่วยงาน ระหว่างสถานศึกษากับผู้ปกครอง กระตุ้นให้ครูผู้สอนได้พัฒนาสาระการเรียนรู้ เช่น จัดประกวด การจัดทำสื่อในลักษณะต่างๆทั้งในแบบออฟไลน์ และออนไลน์ การให้แรงจูงใจ การสร้างจรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากสภาพแวดล้อม รวมถึงการให้รางวัล หรือการชมเชยแด่ครูผู้มีผลงานในการจัดการศึกษาเพื่อให้เกิดแรงกระตุ้น ในการพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง และเป็นแบบอย่างอันดีต่อครูหรือบุคลากรทางการศึกษาอื่นๆได้นำไปเป็นแบบอย่างนำไปสู่การพัฒนากระบวนการจัดการศึกษาของสถานศึกษาที่เข้มแข็ง

สักวันหนึ่ง ในระยะเวลาอีกไม่นานนัก หลักการของกระบวนการจัดการเรียนการสอน อาจจะเปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิมที่ครูผู้สอนจะเป็นผู้ถ่ายทอดเนื้อหา ประสบการณ์หลัก หรือ ความรู้เพียงหนึ่งเดียว ไปสู่ผู้ถ่ายทอดประสบการณ์ผนวกรวมกับการเป็น ผู้ชี้แนะผู้ประสานและกำหนดทิศทางของความรู้ที่ได้จากการเข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้ต่างๆ เช่น หนังสือเรียน ห้องสมุด ข้อมูลชุมชน สื่อสารมวลชน ฐานข้อมูลออนไลน์ไปจนถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ต นำประโยชน์ต่อการต่อยอดความคิด ก้าวไปสู่สังคมของการเรียนรู้ที่กว้างไกลอันเป็นรากฐานสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิต
*ส่วนหนึ่งจาก http://www.northeducation.ac.th/etraining/courses/3/itedu/chap1/index04.phpหลักสูตร “เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการศึกษาสำหรับครู” โดย สุวัฒน์ ธรรมสุนทร

ไม่มีความคิดเห็น

Do not recommend gambling sites of any kind. If violated, will be prosecuted according to the law.

ขอบคุณที่ได้ให้ความสนใจบทความ ใน mediathailand network ครับ

new story

Recent Posts Widget