Column Right

สื่อเสียงและรายการวิทยุ

ความหมายของรายการวิทยุกระจายเสียงและสื่อเสียง

คำว่า วิทยุ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบัญญัติขึ้นเพื่อใช้แทนคำว่า เรดิโอ (Radio) ในภาษาอังกฤษ ซึ่งหมายถึงการรับและส่งข่าวด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือคลื่นวิทยุโดยไม่ต้องใช้สายเชื่อมต่อกันระหว่างเครื่องรับกับเครื่องส่ง หากส่งข่าวสารเป็นรหัสสัญญาณไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว แทนภาษาพูด ก็เรียกว่าวิทยุโทรเลข (Radio Telegraph) คือการส่งโทรเลขโดยใช้คลื่นวิทยุนั่นเอง หากส่งให้ออกเป็นเสียงพูดหรือเสียงอื่นได้โดยตรงเรียกว่า วิทยุกระจายเสียง (Radio Broadcasting) เช่น การส่งกระจายเสียงของสถานีวิทยุกระจายเสียงต่างๆ ที่รับฟังกันอยู่ทั่วไป
วิทยุกระจายเสียง ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2542 ให้คำนิยามไว้ว่า
วิทยุ หมายถึงกระแสคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าฃนิดที่เคลื่อนไปตามอากาศโดยไม่ต้องใช้สาย และอาจเปลี่ยนเป็นเสียงหรือรูปได้ เรียกเครื่องที่มีหน้าที่เปลี่ยนคลื่นเสียงให้เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกสู่อากาศว่า เครื่องส่ง เรียกเครื่องที่มีหน้าที่เปลี่ยนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่รับได้จากเครื่องส่งวิทยุให้กลับเป็นคลื่นเสียงตามเดิมว่า เครื่องรับวิทยุ

ส่วนวิทยุกระจายเสียง ก็คือ การแพร่สัญญาณเสียงออกอากาศโดยใช้คลื่นวิทยุ
วิทยุกระจายเสียง เป็นสื่อมวลชนประเภทหนึ่ง ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการนำเสนอข่าวสารไปสู่ประชาชนได้อย่างกว้างขวาง มีข้อได้เปรียบมากกว่าสื่อมวลชนอื่นๆหลายประการเช่น วิทยุกระจายเสียงสามารถเสนอข่าวได้รวดเร็วกว่าหนังสือพิมพ์ มีราคาถูกกว่าวิทยุโทรทัศน์ สามารถออกอากาศเสนอข่าวได้ในทันที ขณะที่เหตุการณ์เกิดขึ้น และสามารถติดตามรายงานเหตุการณ์เหล่านั้นได้อย่างต่อเนื่อง สามารถเสนอข่าวได้บ่อยครั้ง ทั้งในรูปของรายการข่าวภาคย่อยที่กำหนดไว้ในทุกต้นชั่วโมง หรือทุกครึ่งชั่วโมง และในภาคหลัก ตัวอย่างเช่นสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย มีข่าวภาคหลัก ได้แก่ ข่าวภาค 7.00 น., 12.00 น., 19.00 น., 20.00 น. หรืออาจจะแทรกรายงานข่าวสั้นๆออกอากาศในช่วงรายการอื่นๆของทางสถานี หากมีกรณีสำคัญเร่งด่วน ข้อได้เปรียบของการรับฟังข่าววิทยุกระจายเสียงอีกประการหนึ่งคือ ผู้ฟังสามารถทำกิจวัตรประจำวันหรืองานอื่นๆไปพร้อมๆกันด้วยก็ได้
  
ดังนั้นอาจจะกล่าวได้ว่า วิทยุกระจายเสียง  หมายถึง  กระบวนการส่ง สาระ หรือข่าวสารในรูปของสัญญาณความถึ่ีเสียงผนวกรวมแพร่กระจายไปพร้อมกับคลื่นวิทยุหรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไปถึงกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง
วัตถุประสงค์ของการผลิตรายการวิทยุกระจายเสียงและสื่อเสียง
วัตถุประสงค์ของการผลิตรายการวิทยุกระจายเสียงโดยทั่วไปจะสอดคล้องกับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน 4 ประการสำคัญ คือ
  1. เพื่อแจ้งข่าวสารให้ทราบ (To inform)
    คือ การที่ผู้ผลิตรายการต้องการจะบอก แจ้ง หรือชี้แจงข้อมูล เรื่องราวข่าวสารเพื่อให้ผู้ฟังทราบ
  2. เพื่อให้การศึกษา (To Educate)
    คือ การให้ข้อมูลความรู้ในเชิงวิชาการด้วยการใช้ภาษาที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจของผู้ฟัง
  3. เพื่อให้ความบันเทิง (To entertain)
    คือ การทำให้ผู้ฟังเกิดความเพลิดเพลิน ผ่อนคลาย
  4. เพื่อการชักจูงใจ หรือเสนอแนะ (To persuade)
    คือ การทำหน้าที่ในการชักจูงผู้ฟังเพื่อให้เกิดการคล้อยตาม หรือทำตามข้อเสนอแนะนั้นๆ
ลักษณะเฉพาะที่สำคัญ

ลักษณะเฉพาะในรูปของตัวสื่อ
ถ้ามองในรูปของตัวสื่อ คงต้องแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มของรายการวิทยุกระจายเสียง และกลุ่มของสื่อเสียง
  1. กลุ่มของรายการวิทยุกระจายเสียง
    กลุ่มนี้จะอยู่ในรูปของสัญญาณเสียงที่รวมกับคลื่นความถี่(วิทยุ) ทั้งระบบ AM ระบบ FM คลื่นความถี่ดาวเทียม ซึ่งปัจจุบันรวมความหมายไปถึงรายการวิทยุกระจายเสียงบนอินเทอร์เน็ตด้วย
  2. กลุ่มของสื่อเสียง
    สื่อเสียงจะถูกบันทึกภายใต้เทคโนโลยี 2 ประเภท คือ จะบันทึกลงในรูปของ สัญญาณดิจิตอล(ไฟล์เสียง) และ ในรูปของสัญญาณแม่เหล็ก(เส้นแถบแม่เหล็กในม้วนเทปแบบต่างๆ ซึ่งปัจจุบันแทบจะหาไม่ได้แล้ว)
ลักษณะเฉพาะในรูปของสัญญาณความถึ่
แต่ถ้ามองลักษณะที่อยู่ในรูปของประเภทสัญญาณความถึ ก็แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทเช่นเดียวกัน คือ

                                    


  • ข้อมูลสื่อแบบ Analog
    สื่อประเภทนี้จะอยู่ในรูปของเส้นแถบแม่เหล็ก เป็นสื่อที่ได้รับความนิยมสูงสุดในช่วงปี 1970-1990 สื่อเส้นแถบแม่เหล็กมีอยู่หลากหลายลักษณะ อาทิ ตลับเทปแคสเซท (compact Cassette) เทป 8 แทร็ค เทปรัลหรือตั้งโต๊ะ(ส่วนใหญ่ใช้ในห้องจัดรายการวิทยุและห้องบันทึกเสียง) โดยสัญญาณเสียงจะถูกบันทึกไว้ในแถบแม่เหล็ก รูปแบบคลื่นสัญญาณจะเป็นลักษณะ sinewave ดังภาพด้านล่าง


    ปัจจุบัน สื่อ Analog แทบจะหายไปจากวงการเกือบหมดแล้ว อาจจะยังคงพอเห็นได้บ้างก็เป็นประเภทเทปแคสเซต
  • ข้อมูลสื่อแบบ Digital
    สื่อเสียงดิจิตอลที่เห็นส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของแผ่น CD เพลง ที่เรียกว่า Audio CD หรือ Compcat Disc แต่ด้วยเทคโนโลยี ในปัจจุบัน สื่อเสียงดิจิตอล จะถูกพัฒนาไปอยู่ในแบบไฟล์ข้อมูลเสียงดิจิตอล format ต่างๆ(ดังรูปฟอร์มไฟล์เสียงด้านล่าง) เพิ่มขึ้นด้วย อาทิ .wav, .mp3 และ .wmv เป็นต้น ซึ่งไฟล์เสียงดิจิตอลเหล่านี้ สามารถเล่นผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์หรือผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต อุปกรณ์เครื่องเสียงเกือบทุกประเภท(ในปัจจุบัน) อุปกรณ์เครื่องเล่นไฟล์ดิจิตอลพกพา หรือแม้กระทั่งอุปกรณ์เคลื่อนที่ต่างๆ(Tablet, Mobile Phone) เป็นต้นซึ่งในอนาคตอันใกล้ สื่อเสียงดิจิตอล นอกจากจะเป็นเพียงไฟลืเสียงเพลง ก็จะกลายเป็นสื่ออีกประเภทของกระบวนการเรียนรู้ ที่ทรงพลังอีกประเภทหนึ่ง 


รูปแบบของไฟล์เสียงดิจิตอล


Format File Description
MIDI .mid
.midi
MIDI (Musical Instrument Digital Interface)
เป็นรูปแบบไฟล์เสียงขนาดเล็กสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่หลากหลาย ทำงานได้บนคอมพิวเตอร์ทุกระบบปฎิบัติการ รองรับการทำงานผ่านอินเทอร์เน็ตทุกเบราว์เซอร์
RealAudio .rm
.ram
RealAudio ได้รับการพัฒนาสำหรับการใช้งานอินเทอร์เน็ต ด้วยรูปแบบ เสียง streaming ที่คงความชัดเจน มีขนาดเล็ก ทำให้เป็น format ที่มีผู้นำไปใช้งานด้านวิทยุอินเทอร์เน็ต อีกรูปแบบหนึ่ง
Wave .wav เป็นไฟล์ข้อมูลเสียงรูปแบบของคลื่น (waveform) ถูกพัฒนาโดย IBM และ Microsoft จึงเป็นรูปแบบเสียงที่ใช้งานบนระบบปฎิบัติการเฉพาะ Windowsนอกจากนี้ยังเป็นรูปแบบที่นิยมใช้บนเว็บเบราเซอร์ในปัจจุบัน (ยกเว้น Google Chrome)
WMA .wma รูปแบบ WMA (Windows Media Audio) เป็นอีกรูปแบบที่พัฒนาโดยMicrosoft เป็นรูปแบบที่มีคุณภาพเสียงค่อนข้าง ใกล้เคียงไฟล์แบบ MP3 และสามารถทำงานร่วมกับเครื่องเล่นมากที่สุด ยกเว้นค่าย Apple (iPod iPhone iPad) และจากการที่ ไฟล์ WMA มีคุณภาพสูง ทำให้เป็น format ที่มีผู้นำไปใช้งานด้านวิทยุอินเทอร์เน็ต อีกรูปแบบหนึ่ง
MP3 .mp3
.mpga
ไฟล์ MP3 เป็นเทคโนโลยีเสียงที่ถูกพัฒนามาจากรูปแบบของไฟล์ MPEG มีระบบการเข้ารหัสรวมการบีบอัดที่ดีทำให้ไฟล์มีขนาดเล็ก ที่มีคุณภาพสูง ดังนั้น MP3 จึงเป็นรูปแบบที่ให้คุณภาพความชัดเจนของเสียงเทียบเท่า ไฟล์เสียง Audio CD เป็นรูปแบบที่มีคุณนิยมใช้ในสื่อพกพาสูงสุด

ประเภทของรายการวิทยุกระจายเสียงและสื่อเสียง

การผลิตรายการวิทยุกระจายเสียง จะต้องคำนึงถึงลักษณะของสถานีวิทยุ กลุ่มผู้ฟังเป้าหมาย วัตถุประสงค์ของรายการ ความยาวและระยะเวลาในการออกอากาศ จากนั้น จึงกำหนดเนื้อหารายการ และรูปแบบของรายการให้เหมาะสม อย่างไรก็ตาม การกำหนดรูปแบบรายการมักจะคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสถานีวิทยุ และกลุ่มผู้ฟังเป็นอันดับแรก เช่น สถานีวิทยุกองทัพบก วัตถุประสงค์โดยสำคัญของสถานี คือการกระจายเสียงเพื่อความมั่นคงของชาติ สถานีวิทยุกระจายเสียงของมหาวิทยาลัย มีวัตถุประสงค์โดยสำคัญของสถานี คือ การกระจายเสียง เพื่อการศึกษาและให้ความรู้สู่มวลชน เป็นต้น


หากจะพูดถึงสื่อเสียงซึ่งที่จริงแล้วก็มีกระบวนการผลิตที่ไม่แตกต่างไปจาก การผลิตรายการวิทยุกระจายเสียง ดังนั้นจึง ขอกล่าวถึงรายการวิทยุกระจายเสียงเพื่อการศึกษาก่อน รายการวิทยุกระจายเสียงเพื่อการศึกษา เป็นลักษณะรายการมุ่ง เน้นเพื่อการศึกษา การให้การเรียนรู้โดยเฉพาะโดยกลุ่มเป้าหมายจะเป็นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะเจาะจง อาทิ ผู้เรียนในวิชาที่กำลังออกอากาศ หรือจะเป็นประชาชนผู้สนใจทั่วๆไป แม้ว่าจะชื่อได้ว่าเป็นรายการวิทยุเพื่อการศึกษา แต่แท้ที่จริงแล้วก็ยังอยู่ในรูปแบบรายการวิทยุกระจายเสียงโดยทั่วๆไปนั่นเอง ซึ่งปัจจุบันมีผู้แบ่งรูปแบบได้ประมาณ 12 รูปแบบ คือ
  1. รายการพูดคุยกับผู้ฟัง (Talk Programme)
    การสื่อสารจะมีลักษณะเป็นการสื่อสารแบบสองทาง (Two way Communication) กับผู้ฟัง โดยปกติผู้จัดรายการจะอาศัยเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัย และจำเป็นต้องมีผู้ช่วยประจำรายการ คอยทำหน้าที่ในการรับสายโทรศัพท์ ลักษณะรายการส่วนใหญ่จะเน้นการแสดงความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะ เปิดกว้างในการแสดงความคิดเห็น ผู้ดำเนินรายการจะต้องมีความอดทน และต้องรู้จักวิธีการกำหนดกรอบการแสดงความคิดเห็นให้เหมาะสมตามช่วงเวลาในรายการ และให้ได้ความคิดเห็นของคนฟังที่หลากหลาย ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ารายการอาจจะมีการเสริมด้วยการส่งข้อความ (SMS) และอ่านข้อความนั้นๆ ออกอากาศแทน รูปแบบรายการนี้จะทำให้ทราบระดับความนิยมในรายการ ทราบความหลากหลายของกลุ่มคนฟัง และจำนวนคนฟังในรายการ จนกระทั่งสามารถสร้างชมรมคนฟังในรายการได้ เช่น รายการของ จส. 100 รายการร่วมด้วยช่วยกัน เป็นต้น
  2. รายการสนทนา (Conversational Programme) 
    การสื่อสารจะเป็นการสื่อสารสองทาง (Two way Communication) กับผู้ดำเนินรายการร่วม แต่จะเป็นการสื่อสารทางเดียว (One way Communication) กับผู้ฟังทางบ้าน ยกเว้นจะเปิดโอกาสให้คนฟังสามารถโทรศัพท์เข้ามาสอบถามประเด็นในเรื่องที่ผู้ดำเนินรายการร่วม รูปแบบรายการลักษณะนี้ ผู้ผลิตรายการและผู้ดำเนินรายการร่วมจะต้องทำการกำหนดวาระในการสนทนาที่เป็นประเด็นทันสมัย ศึกษาข้อมูล ทำความตกลงร่วมกันว่าจะแบ่งประเด็นในการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างไร สิ่งที่ควรจะระวังในรายการ คือ ความขัดเแย้งทางความคิด เพราะจะทำให้ผู้ฟังทางบ้านเกิดความสับสนในการจับประเด็น และสรุปประเด็น หากต้องการจะสอดแทรกความคิดเห็นควรจะเริ่มต้นว่า เห็นด้วยกับผู้ดำเนินรายการร่วมก่อน แต่มีข้อเสนอเพิ่มเติมว่าอย่างไร
  3. รายการสัมภาษณ์ (Interview Programme)
    รายการนี้จะมีลักษณะเป็นการสื่อสารสองทางกับผู้ที่เชิญมาร่วมในรายการ หรืออาจจะใช้วิธีการสัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์ในกรณีที่ผู้ถูกสัมภาษณ์ไม่สะดวกที่จะเข้ามาร่วมรายการในสถานีวิทยุ ผู้ดำเนินรายการควรจะแจ้งให้ผู้ฟังทางบ้านทราบว่าผู้ที่เชิญเข้ามาสัมภาษณ์ในรายการชื่ออะไร ตำแหน่งหน้าที่การทำงาน ความสามารถเฉพาะเรื่องที่เชิญเข้ามาสัมภาษณ์ในรายการ หรือกำลังเป็นบุคคลที่ประชาชนให้ความสนใจในเวลานั้น หรือเป็นบุคคลสาธารณะ หรือเป็นบุคคลที่กำลังเกิดข้อพิพากษ์วิจารณ์ ช่วงเริ่มต้นรายการ ผู้ดำเนินรายการ ควรจะนำเสนอประเด็น ที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่เชิญมาสัมภาษณ์ในรายการให้กับผู้ฟังรับทราบ หรือสรุปประเด็นที่สำคัญในช่วงต้นของรายการให้ผู้ฟังทราบเบื้องต้นก่อน แล้วจึงแนะนำผู้ที่เชิญมาสัมภาษณ์ และจึงเข้าสู่การสัมภาษณ์ ข้อควรปฏิบัติที่ดี ผู้ดำเนินรายการควรจะทำการนัดวัน เวลา และกำหนดประเด็นที่จะสัมภาษณ์ให้กับผู้ที่จะเชิญมาสัมภาษณ์ก่อนล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน เพื่อให้ผู้ที่ถูกสัมภาษณ์สามารถเตรียมเนื้อหา หากเกิดกรณีฉุกเฉินผู้ถูกเชิญมาสัมภาษณ์สามารถแจ้งล่วงหน้าว่าไม่สามารถมาร่วมได้ ผู้ดำเนินรายการจะต้องเตรียมประเด็นสำรอง หรือเชิญผู้ถูกสัมภาษณ์อื่นมาแทนในรายการได้ทันท่วงที
  4. .
  5. รายการอภิปราย (Discussion Programme)
    การสื่อสารของรายการลักษณะนี้จะเป็นการสื่อสารแบบสองทางระหว่างผู้ดำเนินการอภิปรายกับผู้ร่วมอภิปราย รายการลักษณะนี้จะเป็นรายการที่มีผู้ดำเนินการอภิปราย 1 คน และผู้ร่วมอภิปรายตั้งแต่ 2 - 4 คน เนื่องจากหากมีผู้ที่เข้าร่วมอภิปรายในรายการมาก การแสดงความคิดเห็นจะทำให้เกิดความหลากหลายจนกระทั่งผู้ดำเนินการอภิปรายไม่สามารถควบคุมประเด็นได้ รายการลักษณะนี้จะต้องอาศัยทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญในการประสานงาน และการเชิญบุคคลเข้ามาร่วมอภิปรายที่สามารถได้ความคิดเห็นที่หลากหลาย อย่างน้อยผู้ที่เข้าร่วมในรายการจะต้องอภิปรายได้ 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย รายการอภิปรายที่ดี สามารถเปิดโอกาสให้ผู้ฟังโทรศัพท์เข้ามาแสดงความคิดเห็น หรือสามารถสอบถามข้อสงสัยในประเด็นที่เกี่ยวข้องในรายการกับผู้อภิปรายได้ในช่วงเวลาที่กำลังออกอากาศ (Real time) ผู้ดำเนินการอภิปรายจะเป็นเพียงผู้ตั้งคำถาม และกำหนดประเด็น กำหนดขอบเขต ควบคุมเวลาในการอภิปรายของแต่ละบุคคล รวมทั้งจะต้องมีความสามารถในการควบคุมความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นในรายการได้เป็นอย่างดี
  6. รายการสารคดี (Documentary or Feature Programme)การสื่อสารของรายการลักษณะนี้จะเป็นการสื่อสารแบบทางเดียวกับผู้ฟังทางบ้าน โดยมีผู้บรรยาย 1 – 2 คน โดยควรจะเป็นคนๆ เดียวกันตลอดไป ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้บรรยายควรจะมีน้ำเสียงที่น่าเชื่อถือ โทนเสียงไม่สูงมากนัก เพื่อทำให้ผู้ฟังสามารถฟังได้จนจบรายการและเป็นการสร้างลักษณะเฉพาะของรายการ (Identity Programme) ไม่จำเป็นต้องเป็นรายการที่จัดสด สามารถบันทึกเทปล่วงหน้าได้ เพื่อให้สามารถตัดต่อและแก้ไขข้อมูลที่ถูกต้องในรายการได้ โดยส่วนใหญ่รายการสารคดีของหน่วยงานต่างๆ จะมีขนาดสั้นความยาวไม่เกิน 5 นาที การกำหนดเนื้อหาจะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ด้านการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานนั้น ทั้งนี้รายการสารคดี 1 ชั่วโมงควรแบ่งออกเป็น 4 ส่วน โดยมีช่วงเวลาที่เท่ากัน คือ 10 – 15 นาที และควรจะมีความต่อเนื่องกันในการนำเสนอเนื้อหาของรายการ การกำหนดประเด็นของรายการ (Theme) ควรจะเป็นประเด็นกว้างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ สิ่งมีชีวิต สิ่งประดิษฐ์ เป็นต้น รายการลักษณะนี้ทีมงานต้องมีความรู้ ความสามารถในการสืบค้นข้อมูล เรียบเรียงและนำเสนอเนื้อหา เลือกเพลงประกอบรายการ หรือจัดทำเสียงประกอบรายการได้อย่างเหมาะสม หากทำให้ผู้ฟังทางบ้านมองเห็นภาพได้จะเป็นรายการที่ช่วยสร้างอรรถรสให้กับคนฟังได้เป็นอย่างดี รายการสารคดีไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงวันเวลาในการออกอากาศ แต่ควรจะเป็นเรื่องที่ส่งเสริมความรู้ให้กับผู้ฟังมากขึ้น เจาะลึกในสิ่งที่ผู้ฟังยังไม่ทราบ หรือเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีใครรู้จักมาก่อน เช่น “ธิเบต” ดินแดนหลังคาโลก ในแต่ละช่วงควรจะนำเสนอเนื้อหาที่กระชับ สร้างความเข้าใจและความต่อเนื่องได้อย่างดี การเชื่อมโยงช่วงเวลาอาจจะอาศัยเสียงเพลง เพลงบรรเลง เสียงประกอบ เสียงบรรยาย หรืออาศัยสปอตรณรงค์ (PSA) คั่นระหว่างช่วงเวลาได้
  7. รายการนิตยสารทางอากาศ (Magazine Programme)การสื่อสารจะเป็นลักษณะของการสื่อสารทางเดียวกับผู้ฟังทางบ้าน รายการนิตยสารทางอากาศควรจะเป็นรายการที่มีผู้ดำเนินรายการหลัก 1 คน และมีผู้ดำเนินรายการในแต่ละช่วงรายการช่วงละ 1 คน ทั้งนี้รายการใน 1 ชั่วโมงควรแบ่งออกเป็น 4 ช่วงๆ ละ 10 – 15 นาที มีความหลากหลายทั้งเนื้อเรื่อง และรูปแบบการนำเสนอ เน้นความทันสมัยและตรงกับเหตุการณ์ของเรื่องราวที่นำเสนอ โดยคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายเป็นสำคัญ การนำเสนอควรจะให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย เช่น กำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็น รายการนิตยสารสำหรับผู้หญิง ข้อมูลที่นำเสนอจะเกี่ยวข้องกับการดูแลรักษารูปร่าง การรักษาผิวพรรณ แฟชั่นการแต่งกาย การสร้างเสน่ห์กับเพศตรงข้าม เป็นต้น โดยมีประเด็นในการนำเสนอที่แตกต่างกันแต่ควรจะอยู่ในหัวข้อที่ใกล้เคียงกัน หรืออาจจะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับช่วงวันและเวลาที่จะออกอากาศ เช่น รายการจะออกอากาศวันที่ 10 ตุลาคม 2547 ประเด็นควรจะเป็นเรื่องของ เทศกาลกินเจ ระหว่างวันที่ 13- 20 ตุลาคม 2547 โดยช่วงแรกนำเสนอประวัติความเป็นมาและความสำคัญของการกินเจ ช่วงที่สอง ร้านอาหารที่เปิดบริการอาหารเจ ช่วงที่สาม เป็นข้อมูลสุขภาพของอาหารเจ เป็นต้น ทั้งนี้การนำเสนอในแต่ละช่วงควรอาศัยบทบรรยาย การสัมภาษณ์ การสนทนา หรือ Vox pop สลับกับเพลงประกอบรายการ จิงเกิ้ลรายการ เสียงประกอบ เพลงบรรเลง เป็นต้น
  8. รายการข่าว (News Programme)
    การสื่อสารจะเป็นการสื่อสารแบบทางเดียวกับผู้ฟังทางบ้าน โดยส่วนใหญ่รายการข่าวจะมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ รายการข่าวประจำวัน และรายการข่าวสั้นในแต่ละช่วงของวัน ซึ่งจะมีความยาวของรายการที่แตกต่างกัน และมีวิธีการนำเสนอที่แตกต่างกัน รายการข่าวประจำวันจะมีความยาว 1 ชั่วโมง โดยจะแบ่งออกตามประเภทของข่าว ได้แก่ ข่าวเด่นประจำวัน ข่าวสังคม ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวเกษตร ข่าวต่างประเทศ ข่าวกีฬา ทั้งนี้จะมีผู้ประกาศข่าว 1 – 2 คน และมีผู้สื่อข่าวนอกสถานที่กระจายตามพื้นที่ โดยเป็นการรายงานสดทางโทรศัพท์ รายงานสดจากสถานที่จัดประชุม หรือเป็นการส่งเทปที่ตัดต่อแล้วมาออกอากาศทางสถานี ส่วนข่าวสั้นในแต่ละช่วงของวันนั้นจะมีความยาวไม่เกิน 3 - 5 นาที ซึ่งจะเป็นประเด็นด่วนในช่วงเวลานั้น การผลิตรายการจะอาศัยจิงเกิ้ลรายการข่าวที่ฟังแล้วเกิดความรู้สึกอยากรู้ อยากฟัง ทั้งนี้ควรจะมีสโลแกนของรายการข่าวเพื่อให้คนฟังสามารถจดจำได้ว่าเป็นรายการข่าวประจำสถานีวิทยุนั้น
  9.  รายการเพลง (Music Programme)
    การสื่อสารจะเป็นลักษณะสองทาง โดยมีผู้จัดรายการ หรือ DJ รายการละ 1 คน ดำเนินรายการ 1 – 3 ชั่วโมงต่อวัน รวมทั้งทำหน้าที่ในการประสานความบันเทิงในรายการตามคำขอของผู้ฟัง หรืออาจจะเป็นการเปิดเพลงที่กำลังอยู่ในความนิยม ตามรูปแบบของรายการ หรือให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายของคนฟังในรายการ โดยส่วนใหญ่รายการเพลงจะเป็นรายการที่เน้นการเปิดเพลงเพื่อการประชาสัมพันธ์ การโฆษณาสินค้า หรือผู้สนับสนุนรายการ ซึ่งรายการลักษณะนี้จะเป็นรายการที่มีจำนวนมาก เนื่องจากเป็นรายการที่มีกลุ่มผู้ฟังสูงกว่ารายการประเภทอื่น ปัจจุบันรายการเพลงของสถานีวิทยุในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลนั้นจะเน้นการเปิดเพลงมากกว่าการพูด หรือที่เรียกว่า Non – stop music เนื้อหาที่นำเสนอในรายการจะมีความเบา ฟังง่ายและเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวัน สลับกับการเล่นเกมส์ ตอบปัญหาชิงรางวัลจากผู้สนับสนุนรายการ การเปิดสปอตโฆษณา และการรายงานข่าวตมสถานการณ์ หรือการรายงานข่าวจราจร เป็นต้น รูปแบบรายการเพลงนั้นผู้จัดรายการจะจัดรายการและเลือกเปิดเพลงตามความถนัดของตนเอง รวมทั้งจะต้องมีความสามารถในการเลือกเพลง จดจำรายชื่อเพลง เชื่อมต่อเพลงในรายการได้อย่างต่อเนื่อง (Smooth) สามารถให้ข้อมูลเพลงที่เปิดได้ เช่น ข้อมูลนักร้อง (Singer) ผู้แต่งเพลง (Composer) อัลบั้ม (Album/ Version) ผลงานสร้างชื่อเสียง รางวัลที่ได้ ความเคลื่อนไหวในวงการเพลง ความเคลื่อนไหวของศิลปิน เป็นต้น
  10. รายการปกิณกะ (Variety Programme)
    เป็นรายการที่มีความหลากหลายในการนำเสนอเนื้อหาสาระ หรือเป็นการเปิดกว้างของรายการภายในเวลา 1 ชั่วโมง โดยจะมีผู้ดำเนินรายการ 1 คน คอยทำหน้าที่เชื่อมโยงเนื้อหารายการในแต่ละช่วง ไม่จำเป็นต้องเป็นรายการสด และไม่จำเป็นต้องเป็นหัวเรื่องเดียวกัน (Theme) ความหลากหลายในแต่ละช่วง จะถูกกำหนดโดยชื่อของช่วงรายการที่จะต้องเป็นชื่อช่วงรายการเดิมแต่เปลี่ยนแปลงเนื้อหาที่นำเสนอได้ ความยาวของแต่ละช่วงรายการมีขนาดไม่เท่ากัน โดยอยู่ระหว่าง 3 – 15 นาที ขึ้นอยู่กับขอบเขตในการนำเสนอเนื้อหา เสียงผู้บรรยายในแต่ละช่วงจะเป็นคนเดียวกันทุกช่วงหรือหลายคนก็ได้ หากเป็นคนเดียวกันควรจะอาศัยบทสัมภาษณ์ การสนทนา การ Vox pop เพลง เสียงประกอบ สปอตรณรงค์ สปอตโฆษณา เพื่อไม่ให้คนฟังเกิดความเบื่อหน่ายในการฟังรายการได้ การกำหนดเนื้อหาในรายการนั้นควรสอดคล้องกับเหตุการณ์ หรือเรื่องที่คนกำลังสนใจในเวลานั้นเป็นสำคัญ
  11. รายการละครวิทยุ (Radio Drama)
    เป็นรายการการแสดงที่ใช้เสียงบอกเล่าเรื่องราว แสดงอารมณ์ ความรู้สึกและสามารถถ่ายทอดความนึกคิดต่างๆ ไปสู่ผู้ฟังได้ โดยไม่จำเป็นต้องมองเห็นท่าทางกิริยาของผู้แสดง ละครที่แสดงทางวิทยุกระจายเสียงนั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างสรรค์ความบันเทิง ให้ความรู้ ให้แง่คิดแก่คนฟัง หรือเป็นละครเพื่อการรณรงค์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง การผลิตรายการละครหนึ่งเรื่องต้องอาศัยทีมงานที่ประกอบไปด้วย ผู้เขียนบทละคร ผู้แสดงละคร ผู้กำกับละคร และบุคลากรทางด้านเทคนิค เสียงประกอบ ทั้งนี้รายการละครจะต้องทำการผลิตและบันทึกเทปล่วงหน้า 3 ขั้นตอน คือ ขั้นวางแผนและเตรียมงาน ขั้นการผลิต และขั้นหลังการผลิตเพื่อตรวจสอบและประเมินผลรายการ ส่วนใหญ่แล้วความยาวของรายการละครหนึ่งเรื่องจะไม่เกิน 30 – 45 นาที โดยจะเป็นเรื่องสั้นจบในตอนหรือแบ่งออกเป็นตอนๆ เพื่อสร้างความต่อเนื่อง ทีมงานละครจะต้องตั้งชื่อทีมละคร กำหนดเพลงรายการละคร และมีผู้บรรยายประจำรายการเพื่อนำเสนอเรื่องย่อ ความเดิมจากตอนที่แล้ว ของรายการทุกวัน
  12. รายการตอบปัญหา (Quiz Programme)
    เป็นรายการที่คล้ายคลึงกับกับรายการที่เน้นเนื้อหาทางวิชาการ ซึ่งเป็นลักษณะของการสื่อสาร 2 ทิศทางระหว่างผู้ดำเนินรายการ และผู้ตอบปัญหาทางบ้าน รายการลักษณะนี้จะไม่ค่อยปรากฏเนื่องจากไม่ค่อยมีผู้สนับสนุนรายการชัดเจน ผู้ดำเนินรายการจะต้องศึกษาข้อมูลในเชิงวิชาการมามาก และจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการที่จะมาเป็นผู้ร่วมรายการเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับรายการ
  13. รายการบรรยายเหตุการณ์ (Commentary Programme)
    เป็นรายการถ่ายทอดสดจากสถานที่เกิดเหตุการณ์ในเวลานั้น โดยส่วนใหญ่จะแทรกได้ทุกช่วงเวลาของการเกิดเหตุการณ์ ทั้งนี้เหตุการณ์นั้นจะต้องมีความสำคัญและเกิดผลกระทบต่อประชาชนระดับประเทศ หรือเป็นประเด็นสาธารณะที่คนสนใจในขณะนั้น เช่น การโต้วาทีของผู้สมัครเลือกตั้งของประธานาธิบดี การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นต้น


วิธีการจัดการเรียนรู้ผ่านทางรายการวิทยุกระจายเสียง
การจัดการศึกษาผ่านทางวิทยุกระจายเสียง เริ่มมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2518 โดยกองการศึกษาผู้ใหญ่ กรมสามัญศึกษา ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา กรมวิชาการ (ซึ่งต่อมาได้รวมหน่วยงานมาเป็น กรมการศึกษานอกโรงเรียน และสำนักงาน กศน. ในปัจจุบัน) ได้เสนอโครงการวิทยุและโทรทัศน์เพื่อการศึกษานอกโรงเรียนขึ้น ในการดำเนินงานนั้นมีการทดลองใช้วิทยุกระจายเสียงเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน (กรมการศึกษานอกโรงเรียน 2519,4)

ลักษณะของการจัดรายการเรียนรู้ เป็นรายการทั่วไปและรายการการศึกษา โดยรายการทั่วไปจัดให้กับกลุ่มผู้รับชม รับฟังทั้งในเมืองและชนบท ให้บริการความรู้ทั่วไป และส่งเสริมความคิดใหม่ ๆ ในเรื่องการเกษตร ธรรมจริยา ภูมิปัญญา อนามัยและการวางแผนครอบครัว ในช่วงแรกใช้สถานีวิทยุกระจายเสียงของท้องถิ่นเป็นหลัก ต่อมาเมื่อกรมประชาสัมพันธ์ได้จัดตั้งวิทยุกระจายเสียงเพื่อการศึกษาขึ้น จึงได้ใช้สถานีวิทยุแห่งนี้กระจายเสียงรายการการศึกษาของโครงการดังกล่าว และในปี พ.ศ. 2519 ได้ทดลองหลักสูตรการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จ ระดับที่ 5 ทางวิทยุและไปรษณีย์ขึ้นด้วย จนถึงปี พ.ศ. 2530 กรมการศึกษานอกโรงเรียนได้พัฒนาหลักสูตรการศึกษาสายสามัญขึ้น แบ่งการศึกษาเป็นระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยมีวิธีเรียน 3 วิธีเรียน คือ วิธีเรียนแบบชั้นเรียน วิธีเรียนด้วยตนเอง และวิธีเรียนทางไกล ซึ่งพัฒนามาจากการศึกษาสายสามัญและการศึกษาทางวิทยุและไปรษณีย์

ก่อนที่จะมีการพัฒนาการศึกษาทางไกลในรูปของโครงการการศึกษาทางวิทยุและไปรษณีย์นั้น ประมาณปี พ.ศ. 2507 ได้มีการทดลองใช้วิทยุโทรทัศน์เป็นสื่อในการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนประถมศึกษาแล้ว โดยจัดรายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษาและรายการวิทยุขึ้น ให้บริการการศึกษาในระบบโรงเรียน และจัดรายการวิทยุเพื่อการศึกษาขึ้น ให้บริการความรู้แก่ประชาชนทั่วไป ออกอากาศที่สถานีวิทยุศึกษา(ปัจจุบันสังกัดศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา สำนักงาน กศน.)

บทสรุป
แม้ว่าปัจจุบันรายการวิทยุโดยส่วนใหญ่ จะถูกดำเนินการในเชิงพาณืชย์ รายการที่เป็นด้านการศึกษาโดยเนื้อแท้นับว่ามีจำนวนน้อยมาก แต่ก้ไม่ได้หมายความว่า รายการวิทยุเพื่อการศึกษาจริงๆได้ตายหรือสูญหายไป เพียงแต่ถูกขีดเส้นด้วยกรอบเวลา ที่เหลือน้อยลงในแต่ละรายการของในแต่ละสถานี นอกจากนี้ยังมีสถานีที่ดำเนินรายการเป็นการเฉพาะอยู่บ้าง อาทิ สถานีวิทยุเพื่อการศึกษา(วิทยุศึกษา) ที่ผลิตรายการโดย ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา สำนักงาน กศน. กระทรวงศึกษาธิการ รวมถึง สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยในเขตพื้นที่ เฉพาะในบางรายการที่ผลิตโดยสถาบัน กศน.ภาคต่างๆ อาทิรายการวัฒนธรรมนำสุข ของ สถาบัน กศน.ภาคเหนือ ออกอากาศทาง สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดเชียงใหม่ (ความถึ่ AM. 639 KHz)

ข้อมูลอ้างอิง : http://www.ipesp.ac.th/learning/thai/chapter9-1.html

ไม่มีความคิดเห็น

Do not recommend gambling sites of any kind. If violated, will be prosecuted according to the law.

ขอบคุณที่ได้ให้ความสนใจบทความ ใน mediathailand network ครับ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

new story

Recent Posts Widget