Column Right

(9)รูปแบบบทความที่ใช้ในการเผยแพร่

 


การเขียนเรื่องราวในแง่มุมต่างๆของชุมชน ที่เกิดจากการเก็บรวบรวมข้อมูล จากหลักฐาน จากเรื่องเล่า จากการสัมภาษณ์ จากสิ่งที่มีอยู่ และไม่มีอยู่ นำมาร้อยเรียง สร้างสรรค์เรื่องราวขึ้นใหม่ด้วยภาษาเรียบง่าย ลดวิถีรูปแบบของวิชาการลง แต่ก็ยังคงเดินเส้นเรื่องราวไปตามข้อเท็จจริง ที่สามารถใช้อ้างอิงได้ วิธีการเช่นนี้จะส่งผลให้เส้นเรื่องราวที่สร้างเผยแพร่บนหน้าเอกสารเว็บข้อมูลความรู้ชุมชน (ประชาชน) แฝงไปด้วยความบันเทิง คงไว้ด้วยคุณค่า น่าอ่าน น่าติดตาม 

รูปแบบที่ใช้เขียนเรื่องราว (รูปแบบที่ปรากฏตรงนี้ จะไม่อ้างอิงกับวิธีการเขียน เอกสารทางวิชาการ) มีรูปแบบ ดังนี้

บทความเชิงบรรยาย (Narrative Article)
ลักษณะเฉพาะ
บทความจะร้อยเรียงไปตาม Concept ที่กำหนดไว้ โครงสร้างจะเป็นรูปแบบง่ายๆ ร้อยเรียงไป เป็นลำดับภาพจะใช้เป็นภาพองค์รวม และภาพแสดงท่าทาง แบบภาพประกอบเนื้อหา

รูปแบบการดำเนินเรื่อง
เป็นการเล่าเรื่องให้ผู้อ่านสนใจ ประทับใจ เขียนให้เห็นถึงภาพความเป็นจริงโดยละเอียด ใช้ภาษาเรียบง่าย ตัวอย่างเช่น เล่าเรื่อง กองปูจา ที่เน้นด้านเอกลักษณ์ความเป็นล้านนา ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชุมชน ลักษณะเช่นนี้ ต้องมีภาพ ท่วงท่าการตีกลอง ประกอบเรื่อง ภาพที่แสดงต้องมีหลายมุมมอง นอกจากนี้เพื่อเพิ่มหรือส่งเสริมให้เรื่องน่าติดตามแล้วควรมีคลิปเสียง(กลอง) หรือวิดีทัศน์ด้วย


บทความเชิงสัมภาษณ์ (Interview Article)
ลักษณะเฉพาะ
เป็นข้อมูลหรือเรื่องราวที่ได้มาจากการสัมภาษณ์พูดคุยกับบุคคลต่างๆ  ลักษณะเด่นเนื้อหาจะแสดงทัศนะ หรือความคิดเห็นของบุคคลที่ถูกสัมภาษณ์ อาทิ ผู้รู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น
โครงสร้างจะเป็นประวัติ ผลงาน ความโดดเด่น ที่สร้างชื่อเสียง การยอมรับของกลุ่มคน สังคม
ภาพประกอบเนื้อหาจะเป็นภาพของภูมิปัญญา และผลงาน ที่อ้างถึง อาจจะมีลักษณะภาพแบบ Two shot (ถ่ายแบบเห็นสองคนแต่เน้นไปที่ผู้ถูกสัมภาษณ์) บ้างก็ได้

รูปแบบการดำเนินเรื่อง
การเดินเรื่องอาจเริ่มด้วยการแนะนำประวัติโดยย่อ แล้วนำเสนอในรูปแบบคำถาม-คำตอบ คือจะนำด้วยคำถามของผู้สัมภาษณ์ก่อน ตามด้วยคำตอบของผู้ที่ถูกสัมภาษณ์สลับกันไปตลอด การเขียนแบบนี้ อาจไม่จำเป็นต้องถอดคำพูดแบบคำต่อคำก็ได้ ผู้เขียนอาจเรียบเรียงใหม่บนข้อมูลที่เป็นจริง เพื่อกระชับถ้อยความให้น่าอ่าน แต่ต้องครบถ้วนทุกประเด็นที่คนให้สัมภาษณ์ได้พูดถึง ท้ายสุดผู้เขียนอาจสอดแทรกบทสรุปปิดท้ายเรื่องก็ได้


บทความเชิงสาธิตวิธีการ (How-to Article)
ลักษณะเฉพาะ
แสดงขั้นตอนหรือกระบวนการ ด้วยภาพประกอบคำบรรยายเป็นหลัก ตั้งแต่ต้น จนจบ อาจมีการเพิ่มสื่อวิดีทัศน์ เพื่อสรุป หรือการแสดงขั้นตอนแบบต่อเนื่อง
ลักษณะภาพที่นำมาใช้ จะใช้ภาพที่เป็นภาพอธิบายเนื้อหา และภาพประกอบเนื้อหาในแต่ละช่วงของการสาธิต ภาพจะต้องโฟกัสไปที่กระบวนการทำ ไม่เน้นตัวบุคคล

รูปแบบการดำเนินเรื่อง
รูปแบบเป็นการอธิบายตามขั้นตอน ของงานฝีมือที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน  อาทิ งานแกะสลัก การทอผ้า การทำเครื่องเงิน การทำร่ม การทำอาหารประจำถิ่น เป็นต้น รูปแบบประเภทนี้จะต้องเขียนและแสดงรายละเอียดประกอบภาพกิจกรรมเป็นขั้น เป็นตอน ที่ชัดเจน


บทความแนะนำ (Recommended Article)
ลักษณะเฉพาะ
แสดงถึงจุดน่าสนใจหรือลักษณะเด่นของเรื่อง บางบทความจะเป็นการเล่าเรื่องด้วยรูป มีคำบรรยายประกอบ ด้วยภาษาไม่เป็นทางการ อ่านแล้วเข้าใจง่าย
ภาพประกอบเนื้อหาที่นำมาใช้ เป็นภาพมุมกว้างที่เก็บภาพรวมทั้งหมด ผสมผสานกับจุดเน้นต่างๆที่เรื่องได้กล่าวถึง

รูปแบบการดำเนินเรื่อง
นำเสนอเพื่อ ชี้นำ ชักจูงให้เห็นถึงลักษณะเด่นต่างๆ เหมาะสำหรับการแนะนำวัด อาคารสิ่งก่อสร้าง โบราณสถาน แหล่งท่องเที่ยว เป็นรูปแบบการให้รายละเอียด ลักษณะเด่น ลักษณะเฉพาะ ซึ่งแต่ละส่วนจะมีภาพประกอบเป็นหลัก


บทความชีวประวัติ (Biography Article)
ลักษณะเฉพาะ
ยกย่อง ชื่นชม บุคคลที่มีชื่อเสียง ที่ได้รับการยอมรับของชุมชน ทั้งที่มีชีวิตอยู่ และที่ล่วงลับแล้ว
สรุปเรื่องราวทั้งหมด หรือตัดช่วงนำเสนอเฉพาะผลงานเป็นเรื่องๆก็ได้
ภาพที่นำมาประกอบเนื้อหาเป็นภาพของบุคคลที่กล่าวถึง รวมถึงภาพผลงาน หรือกิจกรรม ที่ทำให้กับชุมชน จนเป็นที่ประจักษ์หรือยอมรับ

รูปแบบการดำเนินเรื่อง
นำเสนอเรื่องราวที่เป็นประวัติส่วนตัวของคนในชุมชน อาทิ ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือ บุคคลที่มีชื่อเสียงโดยจะนำเสนอเรื่องราวส่วนตัว ด้านผลงานหรือประสบความสำเร็จในชีวิต หรือเป็นตัวอย่างที่ดีในด้านใดด้านหนึ่ง การเขียนควรเลือกเรื่องราว แนวความคิด การดำเนินชีวิต  หรือเคล็ดลับที่นำไปสู่ความสำเร็จมานำเสนอ ถ้าหากมีผลงานมาก และสำคัญ อาจแบ่งเนื้อหาเป็นตอนๆ แล้วเล่าส่วนของผลงานเป็นส่วนๆไป เพราะเป็นประเด็นหรือหัวข้อที่มีประโยชน์ต่อคนอ่านบางทีจะรวบรัดหรือตัดทิ้งก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย


บทความเชิงสารคดี (Feature Article)
ลักษณะเฉพาะ
นำเสนอสาระเรื่องราวตามข้อเท็จจริง ผ่านการเล่าเรื่องที่แฝงความบันเทิง ลักษณะของเรื่องอาจจะจบในตอน แต่ส่วนใหญ่มีขนาดยาวซึ่งต้องแบ่งออกเป็น ตอนๆ
การเล่าเรื่องเป็นแบบพรรณาโวหาร
ภาพอาจไม่ต้องใช้ภาพประเภทภาพเล่าเรื่องหรืออธิบายเนื้อหา ใช้เพียงภาพประกอบเนื้อหาก็เพียงพอ

รูปแบบการดำเนินเรื่อง
เป็นบทความที่มีมีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องต่อกัน หรือมีส่วนแยกเป็นเรื่องย่อย หรือเป็นบทความที่มีความยาว ซึ่งต้องแบ่งเป็นตอนๆ เขียนแบบสารคดีมีการวิเคราะห์วิจารณ์ควบคู่กันไป รูปแบบการเขียนมีทั้งแบบเน้นสาระมากกว่าบันเทิง หรือเอาบันเทิงนำสาระ เช่นการเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์ หรือเรื่องราวที่เป็นตำนาน เป็นต้น


รูปแบบอื่นๆ
การเขียนเรื่องราวดังรูปแบบที่กล่าวในข้างต้น เป็นตัวอย่างที่จะใช้เป็นแนวทางในการเขียนเรื่องของท่าน นอกจากนี้อีกสองลักษณะด้านล่างที่มีการนำไปใช้ในการนำเสนอเรื่องราวของชุมชน คือแบบเชิงวิชาการ และ แบบเชิงวิจัย ซึ่งถือเป็นแบบที่ค่อนข้างยากและผู้เขียนเรื่องจะเครียด (หากไม่ใช่นักวิชาการหรือนักทำวิจัยตัวยง) แต่ก็นำเอารูปลักษณะนำมานำเสนอไว้ เผื่อ จะมีบทความแบบนี้เกิดขึ้นมาบ้าง

บทความเชิงวิชาการ (Academic Article) *
ลักษณะเฉพาะ
บทความกึ่งรายงานมีเนื้อหาแสดงข้อเท็จจริง ข้อมูลความรู้ทางวิชาการเฉพาะด้านต่างๆ ลักษณะจะมุ่งเสนอความรู้โดยตรง
เนื่องจากรูปแบบวิชาการ มีส่วนย่อย หรือส่วนสำคัญปลีกย่อย ภาพที่ใช้จะเป็นลักษณะภาพประกอบเนื้อหาเป็นส่วนใหญ่ 

รูปแบบการดำเนินเรื่อง
เขียนไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ด้วยภาษาปกติ ไม่เน้นเป็นทางการมากนัก เพราะการนำเสนอแบบนี้ คนอ่านมีหลากหลายกลุ่ม และบทความนี้สามารถใช้เป็นแหล่งอ้างอิงต่อได้ รูปแบบนี้ ขยายความด้วยภาพ หรืออินโฟกราฟิก อาจมีส่วนเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มความชัดเจน อาทิ บทสรุป คำศัพท์เฉพาะ

บทความวิจัย (Research Article) *
ลักษณะเฉพาะ
บทสรุปย่อของผลงานด้านวิจัย
ภาพอาจจะแสดงเป็นตาราง ไดอะแกรม หรืออินโฟกราฟิก

รูปแบบการดำเนินเรื่อง
นำเสนอเฉพาะเนื้อหาสาระหรือข้อสรุปของงานวิจัยนั้นๆ เพื่อให้สั้น กระชับ เหมาะกับการอ่านเพื่อให้รู้เรื่องราวโดยสังเขป มีส่วนลิ้งค์เพื่อนำไปสู่เอกสารฉบับเต็มได้

บทสรุปส่งท้าย
นอกจากที่กล่าวในข้างต้น ที่แนะนำนี้ เป็นเพียงแนวทางการเขียนบทความ/สารคดีสำหรับเผยแพร่ข้อมูลความรู้ของชุมชนผ่านหน้าเอกสารเว็บแล้ว ในเรื่องของรูปแบบการเขียนเรื่องราวยังมีรูปแบบย่อยๆ อีกหลากหลาย อาทิ บทความเพื่อแสดงความเห็น, บทความเพื่อให้ข่าวสาร, บทความเชิงวิเคราะห์, บทความเชิงวิจารณ์, บทความกระตุ้นจิตสำนึก, บทความเชิงโต้แย้ง,  บทความประชาสัมพันธ์ หรือบทความที่ไม่เข้าพวกกับใคร อาจรวมๆเรียกว่า บทความทั่วไป (General Article) แต่ไม่ว่าจะเป็นในประเภทใด ก็อยู่ในกรอบแนวทางหลักๆไม่ว่าจะเป็น ARGUMENTATIVE WRITING,  NARRATIVE WRITING, PERSUASIVE WRITING, DESCRIPTIVE WRITING และ(หรือ) EXPOSITORY WRITING  ล้วนแล้วเป็นหลักวิธีการเขียนเรื่องราว รูปแบบต่างๆ ที่ดีเยี่ยม หากจะเป็นนักเขียนเรื่องราวที่ดี ลองไปค้นหา ศึกษาเพิ่มเติมเอาเอง 


หากเลือกวิธีการสร้างเส้นเรื่องแล้ว อย่าลืม ย้อนกลับไปดูเงื่อนไขของรูปแบบโครงสร้างหน้าข้อมูลความรู้ของแต่ละกลุ่มเนื้อหา ในแต่ละประเภทด้วย

ไม่มีความคิดเห็น

Do not recommend gambling sites of any kind. If violated, will be prosecuted according to the law.

ขอบคุณที่ได้ให้ความสนใจบทความ ใน mediathailand network ครับ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

new story

Recent Posts Widget