Column Right

กลลวง สินเชื่อเงินด่วนกู้เงินออนไลน์

 หลังจากที่ได้นำเสนอบทความเรื่อง  Hybrid Scam หลอกรักลวงร่วมลงทุน  ไปเมื่อสัปดาห์ก่อน ก็มีสมาชิก mediathailand ได้เข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกันหลายราย นับเป็นประโยชน์ ซึ่งบางกรณีก็ได้นำเพิ่มเติมลงในเรื่องราว  Hybrid Scam หลอกรักลวงร่วมลงทุน ไปแล้ว ช่วงสัปดาห์นี้ก็มี SMS ส่งเข้ามาอยู่ หลายรายการ เป็นข้อความชี้ชวนให้กู้เงินออนไลน์ วันนี้เลยจะนำเรื่องราวลักษณะเช่นนี้ที่ถือเป็นภัยคุกคามบนโลกไซเบอร์ที่ค่อนข้างรุนแรงและกำลังระบาดไปทั่วในสังคมปัจจุบัน


จากสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน รวมถึงพิษจากโควิด 19 แม้กระทั่งผลจากน้ำท่วมเกือบทั่วประเทศ ส่งผลให้ประชาชนต้องประสบกับวิกฤตปัญหาทางเศรษฐกิจ ทางการเงินที่ขาดหาย ขาดสภาพคล่อง หรืออับจนแม้กระทั่งตกงาน ไร้เงินมาใช้จ่าย เป็นอีกสถานการณ์ที่มิจฉาชีพฉวยโอกาส แสดงตนหยิบยื่นโอกาส(ลวง) ให้ดังที่เกริ่นในข้างต้น ผู้เขียน หรือ ผู้อ่านหลายคนจะได้รับ message หรือข้อความที่ปรากฎในโทรศัพท์ไม่ว่าจะส่งผ่านทางบริการส่งข้อความสั้น (SMS) ระหว่างโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือทาง Social media ต่างๆ 


เฉพาะปัญหาการชี้ชวนกู้เงิน จากสถาบันการเงินต่างๆ ก็มาแบบติดๆกันวันละหลายๆหน ซึ่งถ้าคิดให้ดีๆ สถาบันการเงินเหล่านี้ ไม่มีนโยบายชี้ชวนให้ไปทำธุรกรรมผ่านวิธีการนี้ นี่คือ วิธีการที่กลุ่มมิจฉาชีพ ทำการส่งข้อมูลเหล่านี้ผ่านไปยังเบอร์โทรศัพท์ต่างๆ ครั้งละเป็นร้อยๆ ราย แม้จะมีรายจ่ายในการลงทุน (ปัจจุบันมีบริษัทผู้ให้บริการ มีราคาต่ำสุด 0.18 บาท/ข้อความ และสามารถส่งจากเครื่องคอมพิวเตอร์ไปยังผู้รับได้ครั้งละหลายๆหมายเลข) บางรายมีข้อมูลรายละเอียดของเหยื่อก็จะยอมลงทุนเพิ่มโดยการโทรศัพท์เข้าหาเหยื่อโดยตรง เพื่อหลอกว่า เป็นตัวแทนของสถาบันการเงิน มีการแนะนำตัวแจ้งชื่อเลขหมายประจำตัวของธนาคาร เข้ามาทักทาย สร้างความน่าเชื่อถือ ด้วยการบอกข้อมูลของเราอย่างถูกต้อง

ซึ่งเชื่อได้ว่า หากมีคนหลงเชื่อ รายหรือสองสามรายก็คุ้มกับการลงทุน ประเด็นปัญหาที่จะนำมากล่าวถึงในบทความนี้ มี 2 ประเด็น ก็คือ

(1)พวกมิจฉาชีพรู้หมายเลขโทรศัพท์เราได้อย่างไร
(2)กลวิธีการหลอกลวงสินเชื่อเงินด่วนกู้เงินออนไลน์

(1)พวกมิจฉาชีพรู้หมายเลขโทรศัพท์เราได้อย่างไร
เป็นคำถามที่หลายคนก็ต่างสงสัยกันว่าพวกมิจฉาชีพเหล่านี้ไปเอาข้อมูลของเรามาจากไหน ข้อมูลของเราอาจจะถูกซื้อมาจากคนไม่ประสงค์ดี(ข้อมูลที่เราเคยไปกรอกหรือบันทึกไว้ในสถาบันการเงิน บริษัทประกันชีวิต การติดต่อซื้อขายต่างๆ) มาอีกทอด หรือมิจฉาชีพบางแก๊งก็สุ่มเบอร์โทรศัพท์เอาบ้าง บางพวกก็ไปรวบรวมเอามาจากเว็บข้อมูลของหน่วยงาน ในร้านค้าออนไลน์ที่มีการโพสต์ข้อมูลส่วนตัวพร้อมเบอร์โทรศัพท์ มิจฉาชีพบางรายก็เอาเบอร์มาจากถังขยะที่เรา ทิ้งซองจดหมายหรือกล่องพัสดุซึ่งบนนั้นก็มีชื่อ นามสกุล ที่อยู่ อีเมล์ และเบอร์โทรศัพท์ของเราทั้งหมด  การหลอกลวงผ่านวิธีการคอลเซ็นเตอร์ เป็นเพียงอีกรูปแบบหนึ่งที่ใช้ในการโจรกรรมข้อมูลของมิจฉาชีพแบบหนึ่งในหลายๆแบบที่เหล่ามิจฉาชีพต่างพัฒนาวิธีการกันอย่างต่อเนื่อง ปี 2565 นี้ได้สร้างปัญหาและความเสียหายมูลค่ามหาศาล ส่งผลให้ยอดผู้เสียหายสูงถึง 270%เมื่อเทียบกับปี 2564 ดังนั้น เราทุกคนต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยข้อมูลส่วนตัวของตัวเองด้วยนะ 

(2)กลวิธีการหลอกลวงสินเชื่อเงินด่วนกู้เงินออนไลน์
เรามาศึกษากันว่ามิจฉาชีพมีกลวิธีอะไรบ้างในการหลอกลวงเหยื่อ โดย mediathailand จะนำเสนอตัวอย่างต่างๆจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น และเป็นข่าวคราวในโลกปัจจุบัน

กรณีที่เป็นข่าว (อ้างอิงจากข่าวของช่อง 8)

คุณแพม ผู้เสียหายส่งข้อมูลให้ทีมข่าวช่อง 8 และเล่าว่า ได้แอดไลน์เข้าไปขอกู้เงินจำนวนหนึ่ง ก่อนทำการกู้เงิน ทางมิจฉาชีพจะอ้างว่ามีค่าดำเนินการเอกสาร 325 บาท โดยจะให้เหยื่อโอนเงินเข้าไปก่อนเพื่อเปิดระบบ หลังจากที่เหยื่อโอนไปแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือการชำระเงินมัดจำ เช่น กู้ 5,000 บาท ต้องมัดจำ 400 กู้ 20,000 มัดจำ 1,000 กู้ 50,000 มัดจำ 2,500 บาท 

คุณปุ้ม หนึ่งในผู้เสียหาย เล่าให้ทีมข่าวออนไลน์ช่อง 8 ฟังว่า เธอเห็นข้อความกู้เงินด่วน อนุมัติง่าย โอนไว รับทุกอาชีพในเฟซบุ๊ก ประกอบกับต้องการใช้เงินพอดีจึงตัดสินใจแอดออฟฟิเชียลไลน์เข้าไปคุย และขอกู้เงิน 50,000 บาท หลังจากนั้นออฟฟิเชียลดังกล่าวจะทำการขอข้อมูลส่วนตัว และเลขบัญชี และขอค่ามัดจำก่อน 5,000 บาท เพื่อจะได้ปล่อยกู้ 50,000 บาท

เมื่อผู้เสียหายเริ่มลังเล อยากยกเลิกกู้เงิน มิจฉาชีพจะอ้างว่า "หากต้องการยกเลิก ต้องที่สำนักงานใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ที่เขตห้วยขวาง กทม. และต้องนำผลตรวจโควิด 3 วันไปด้วย หากไม่เข้าไปยกเลิกจะยังต้องชำระเงินคืนทุกเดือน พร้อมขู่ว่า มีผลต่อการซื้อบ้าน ซื้อรถ การใช้บัตรเครดิตในอนาคต" พร้อมส่งรีวิวการโอนเงินให้ผู้กู้ดู เพื่อจูงใจเหยื่อ

ผู้เสียหายตัดสินใจโอนเงินให้ 5,000 บาท เข้าไปที่เลขบัญชี 4212625067 ชื่อบัญชี มะลิวัลย์ เนียมสดใส แต่ยังไม่จบ มิจฉาชีพแจ้งกลับมาว่า คุณใส่เลขบัญชีผิดต้องโอนมาเพิ่ม 15,000 บาท เพื่อยืนยันตัวตน หากโอนไม่ครบก็ไม่ได้ เพราะต้องทำตามระบบ เหยื่อหลงเชื่อโอนไปเพิ่ม เมื่อเห็นเชื่ออมทำตาม มิจฉาชีพบอกเหยื่ออีกว่า ต้องโอนมาเพิ่ม 15,000 บาท เพื่อแก้ไขข้อมูล

สุดท้ายเหยื่อรายนี้โอนเงินไปทั้งสิ้น 35,000 บาท ซึ่งมิจฉาชีพก็ยังขอให้เธอโอนเงินเข้าไปเรื่อย ๆ แต่ผู้เสียหายเริ่มรู้ตัวว่าถูกหลอกแล้ว จึงตัดสินใจเข้าแจ้งความ


ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ได้ออกมา เตือนภัยกลุ่มมิจฉาชีพปลอมตัวเป็น ‘บริษัทให้กู้เงิน‘ หลอกให้โอนค่าธรรมเนียมค้ำประกัน และขอข้อมูลส่วนตัวไปใช้ถอนเงินในบัญชี ซึ่งถ้าได้พบเห็นโฆษณาเงินกู้ แล้วทักไปว่าสนใจ ก็ถูกชวนไปคุยต่อใน chat ส่วนตัว ซึ่งต้องระวังไว้ให้ดี หากเป็นไปได้ควรกู้จากผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตจากทางการจะดีกว่า และประชาชนไม่ควรเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวหรือแชร์ข้อมูลให้ผู้อื่นรับทราบ เช่น เลขหน้าและหลังบัตรประชาชน เลขที่บัญชีธนาคาร เลขหน้าและหลังบัตรเครดิต และวันเดือนปีเกิด เป็นต้น เพราะถือเป็นข้อมูลสำคัญที่ใครหลายคนต่างนำไปใช้เชื่อมกับธุรกรรมการเงินส่วนตัวทั้งสิ้น

นอกจากนี้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.)
ยังได้เผยแพร่ข้อมูลรูปแบบการหลอกลวงผ่านโลกออนไลน์"กู้เงินนอกระบบด่วน" ซึ่งจะมีรูปแบบการหลอกลวงว่าสามารถกู้ได้โดยง่าย เช่น คนที่ติดแบล็คลิสต์ก็กู้ได้โดยไม่ต้องมีหลักประกัน หรือสามารถพิจารณาอนุมัติเงินกู้ให้เสร็จได้ภายใน 1 ชั่วโมง จากนั้นเมื่อมีประชาชนสนใจ ก็จะให้เหยื่อติดต่อผ่านโปรแกรม Facebook , Messenger และส่งหลักฐานต่างๆไปประกอบการพิจารณาอนุมัติเงินกู้ ซึ่งแท้จริงแล้วมิจฉาชีพเหล่านี้มีเจตนาเพียงแค่ต้องการหลอกให้เหยื่อโอนเงินมัดจำหรือเงินดอกเบี้ยก่อนเท่านั้น


4 ขั้นตอน กลโกงแก๊งปล่อยเงินกู้ออนไลน์
1. เปิดเพจปลอม
- อาจมีการใช้ชื่อเพจให้เหมือนกับบริษัทเงินกู้ใหญ่ๆ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
- มีการโฆษณาเพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมาย และใส่ข้อความชวนเชื่อ เช่น ดอกเบี้ยต่ำ ติดแบล็คลิสต์ก็กู้ได้ เพื่อให้เหยื่อรู้สึกสนใจ

2. ขอข้อมูลส่วนตัว – ขอเงิน
- มิจฉาชีพจะขอเอกสารจากเหยื่อ เช่น บัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน
- และขอให้เหยื่อ "จ่ายเงิน" ให้โดยอ้างว่าเป็นค่าธรรมเนียมดำเนินการ อาจคิดเป็นร้อยละ ** ของเงินกู้ จึงจะได้เงินกู้ตามจำนวนที่ต้องการ

3. ปลอมเอกสาร
- มิจฉาชีพจะทำเอกสารปลอม และมักใส่ QR Code หรือ Barcode เพื่อทำให้ดูน่าเชื่อถือ กว่าเหยื่อจะรู้ตัว ก็ถูกโกงไปเรียบร้อยแล้ว

4. หลบหนีเมื่อได้เงิน
- เมื่อมิจฉาชีพได้เงินจากเหยื่อแล้ว จะบล็อกบัญชีและหนีหายทันที
- นอกจากนี้ เหยื่อบางรายอาจโดนนำข้อมูลไปแอบอ้าง กระทำการฉ้อฉลอื่นๆ อีกด้วย

อ่าน เผย 7 ช่องทางสำรวจแก๊งมิจฉาชีพอย่าง Call Center เอาเบอร์โทรศัพท์ของคุณมาจากไหน? พร้อมแนวทางป้องกัน


ปิดท้าย นอกจาก หลอกแบบสินเชื่อเงินด่วน ที่ส่ง SMS หาเหยื่อ ยังมี SMS แบบอื่นๆ อาทิ เกม ของแจกที่หลอกล่อ เลขเด็ด แม้กระทั้งการลงทุนต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตประจำวัน ซึ่งหากมีสติ คิดไตร่ตรองดีๆ ก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพเหล่านี้ ของคุณครับที่ให้ความสนใจ

ไม่มีความคิดเห็น

Do not recommend gambling sites of any kind. If violated, will be prosecuted according to the law.

ขอบคุณที่ได้ให้ความสนใจบทความ ใน mediathailand network ครับ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

new story

Recent Posts Widget